คำถามที่พบบ่อย - ยาหอม

• ควรรับประทานยาหอมของหมอหวานด้วยวิธีใด

ท่านสามารถรับประทานยาหอมของหมอหวานได้ ๓ วิธี คือ

๑. รับประทานแบบวิธีโบราณ

นำยาใส่โกร่งหรือถ้วยแล้วรินน้ำต้มสุกหรือน้ำดื่มที่อุณหภูมิห้อง พอท่วมเม็ดยา บดให้ละลายแล้วดื่ม วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะจะได้รับความชื่นใจ ซึ่งจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น

๒. รับประทานแบบเคี้ยวกลืน แล้วดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำดื่มที่อุณหภูมิห้องตาม
วิธีนี้สามารถทำได้ในกรณีเร่งรีบ หรือไม่สะดวกที่จะบดยาแบบวิธีแรก แม้ยาจะมีรสขมอยู่บ้าง แต่การเคี้ยวให้แหลกก่อนจะทำให้ยาแตกตัวและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าการกลืนทั้งเม็ด

๓. รับประทานแบบกลืนทั้งเม็ดพร้อมน้ำต้มสุกหรือน้ำดื่มที่อุณหภูมิห้อง
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่รับประทานยายาก สรรพคุณที่ขาดไปคือความชื่นใจซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของยาหอม ซึ่งจะทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น


• ยาหอมของหมอหวานต่างจากยาหอมทั่วไปอย่างไร

ยาหอมหมายถึง ยาที่เข้าเครื่องยา หรือมีส่วนผสมของเครื่องยาที่มีกลิ่นหอม ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย รสหอมเย็นมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ เครื่องยาเหล่านี้ ได้แก่ เกสรดอกไม้ กฤษณา ขอนดอก กะลำพัก หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด ชะมดเชียง ฯลฯ ยาแต่ละตำรับซึ่งมีสรรพคุณในการรักษาที่แตกต่างกัน เมื่อเข้าเครื่องยาซึ่งเป็นของหอมในปริมาณที่ทำให้เกิดสรรพคุณแก้ทางลม ก็จะมีคำว่ายาหอมนำหน้าชื่อตำรับ ดังเช่นยาหอมของหมอหวาน ๔ ตำรับ ซึ่งมีสรรพคุณแตกต่างกัน แต่ทุกตำรับมีสรรพคุณหนึ่งที่เหมือนกันคือ บำรุงหัวใจ

ยาหอมของหมอหวาน ปรุงจากเครื่องยาและกรรมวิธีตามตำรับโบราณ เพื่อให้ได้ยาที่มีสรรพคุณ การที่มีรูปแบบเป็นเม็ด ไม่เป็นผงเช่นยาหอมทั่วไป เนื่องจากในยุคของหมอหวาน ยาแผนตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น หมอหวานจึงต้องปรับตัวทำยาไทยในรูปแบบยาปรุงสำเร็จ เป็นยาเม็ด และยาน้ำ รับประทานง่าย พกพาสะดวก ยาหอมของหมอหวาน ไม่ต้องผสมกับน้ำกระสายน้ำดอกไม้เทศก่อนรับประทาน เพราะผสมไว้ในเม็ดยาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนที่พิมพ์เม็ดยา และใช้น้ำดื่มทีอุณหภูมิห้อง ไม่ต้องใช้น้ำร้อน เพื่อความสะดวกในการรับประทาน
ยาหอม ๔ ตำรับของหมอหวาน


• เหตุใดยาหอมของหมอหวานจึงต้องปิดทอง

ทองคำจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ในวิชาการแพทย์แผนไทย สมุนไพรแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุ ทองคำเปลว จึงเป็นสมุนไพรประเภทธาตุวัตถุ เพราะเป็นแร่ธาตุ มีสรรพคุณเป็นยาเย็น แก้นอนสะดุ้งผวา บำรุงผิวพรรณ และเป็นยาอายุวัฒนะ

นอกจากการปิดทองเพื่อให้ได้สรรพคุณยาตามต้องการแล้ว อีกนัยหนึ่งของการปิดทอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของยาถวายเจ้านาย

ทองคำเปลวที่ใช้ในการปิดลงบนเม็ดยา เป็นทองคำบริสุทธิ์ จึงรับประทานได้ ต่างจากทองคำเปลวสังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของโลหะหนัก ซึ่งนิยมใช้ปิดบนพระพุทธรูป
ยาหอมสุรามฤทธิ์ ยาหอมปิดทอง
ยาหอมสุรามฤทธิ์ ปิดทองทั้งเม็ด

• เหตุใดยาหอมของหมอหวานจึงมีราคาสูง

เครื่องยาในตำรับยาหอมของหมอหวาน จำนวนหนึ่งเป็นของหายาก และบางส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาสูง เช่น หญ้าฝรั่น (saffron) พิมเสนตรังกานู ชะมดเช็ด ชะมดเชียง อำพันทอง เห็ดนมเสือ โสมเกาหลี และคุลิก่า

เครื่องยาซึ่งเป็นของหายาก

บางส่วนของเครื่องยาซึ่งเป็นของหายาก
คำอธิบายภาพ (จากบนลงล่าง และจากซ้ายไปขวา)

๑. คุลิก่า คือ เม็ดปรวด (หรือเม็ดนิ่ว) ในถุงน้ำดีของค่าง มีรสเย็น ดับพิษร้อน พิษกาฬ และพิษทั้งปวง มีฤทธิ์ขับเสลดหางวัวที่พันคอคนไข้ใกล้สิ้นใจให้หลุดออกได้ ราคากิโลกรัมละ ๑.๒ ล้านบาท

๒. โคโรค คือ ก้อนปรวดในถุงน้ำดี ท่อน้ำดี หรือ ตับของวัวหรือกระบือ มีสรรพคุณแก้น้ำลายเหนียว แก้เสลดหางวัว และบำรุงกำลัง ราคากิโลกรัมละ ๖.๕ แสนบาท

๓. พิมเสนตรังกานู ได้จากต้น Borneo Camphor Tree ในรัฐตรังกานู เป็นยาขับเหงื่อ ขับเสมหะ กระตุ้นการหายใจ กระตุ้นสมอง บำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวาย แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด

๔. เห็ดนมเสือ เป็นเห็ดที่เกิดจากน้ำนมของเสือโคร่งแม่ลูกอ่อนที่คัดไหลลงสู่พื้นดิน เก็บได้จากป่าดิบเขา มีสรรพคุณแก้เหนื่อยอ่อนเพลีย แก้ไอ และบำรุงกำลัง

๕. หญ้าฝรั่น (saffron) คือ เกสรตัวเมียของดอกหญ้าฝรั่น ซึ่งมีเพียง ๓ เส้น ใน ๑ ดอก และต้องเก็บถึง ๑.๖ แสนดอก จึงจะได้น้ำหนัก ๑ กิโลกรัม มีราคาสูงกว่าทองคำ มีฤทธิ์บำรุงหัวใจ

๖. อำพันทอง คือ เมือกมันกามคุณของปลาวาฬ มีรสเอียน คาวเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้ลม แก้เสมหะ บำรุงกำลัง และบำรุงกำหนัด